โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ เป็นโรงเรียนรัฐบาลสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่เลขที่ 222 ถนนชุมพล ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ฉะเชิงเทรา เป็นโรงเรียนมัธยมสหศึกษา ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2435 เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษประเภทสหศึกษา แต่เดิมโรงเรียนนี้เคยเป็นโรงเรียนประจำมณฑลปราจีน
โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เริ่มก่อตั้งครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2435 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พ.ศ. 2435 – พ.ศ. 2449 (ที่วัดสายชล ณ รังษี) การศึกษาของประชาชนชาวไทยในสมัยก่อนไม่มีแบบแผนที่แน่นอน ต้องอาศัยวัดเป็นแหล่งหลักในการให้การศึกษาแก่เยาวชนโดยจะมีพระเถระผู้ทรงคุณความรู้ด้านการอ่านเขียน และอบรมสั่งสอนด้านคุณธรรมจริยธรรม ชาวบ้านจึงมักนำบุตรหลานมาบรรพชาฝากไว้เป็นศิษย์ ให้คอยปรนนิบัติรับใช้อาจารย์ และใช้เวลาว่างในการหัดอ่านหัดเขียนตามที่อาจารย์ท่านสั่งหรือต่อหนังสือให้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในกรุงเทพฯหลายแห่ง ให้ตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรเป็นแห่งแรกที่วัดมหรรณพาราม เมื่อ พ.ศ. 2427 ราษฎรเกรงว่ารัฐบาลตั้งโรงเรียนขึ้นก็เพื่อราษฎรไปเป็นทหาร เนื่องจากการเป็นทหารในสมัยนั้นมีความลำบากมาก พระองค์ต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศชี้แจง และชักชวนให้ราษฎรนิยมเรียนหนังสือ จึงทำให้การจัดตั้งโรงเรียนแพร่ออกสู่หัวเมืองมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ต่อมาประกาศตั้งกรมศึกษาธิการขึ้น เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 เพื่อให้ดูแลจัดการการศึกษาโดยเฉพาะ และเมื่อมีโรงเรียนเพิ่มมากยิ่งขึ้น จึงฐานะกรมศึกษาธิการเป็นกระทรวงธรรมการ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 แม้การโรงเรียนทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองจะแพร่หลายกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก ก็ยังไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย ทรงมีพระราชปรารภว่ายังสามารถให้การศึกษาแก่ราษฎรได้อย่างทั่วถึง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศตั้ง “โรงเรียนมูลสามัญศึกษา” ขึ้นเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2435 ครูผู้สอนในสมัยนั้น ได้แก่พระภิกษุที่อยู่ในวัดและจัดสอนตามหลักสูตรสามัญ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือโรงเรียนมูลสามัญชั้นต่ำ และโรงเรียนมูลสามัญชั้นสูง ในระยะแรกให้อาจารย์ผู้สอนจัดเก็บค่าธรรมเนียมเอง ดังข้อความสำคัญที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 9 ร.ศ. 111 (พ.ศ. 2435) หน้า 93-95 ตอนหนึ่ง ความว่า นอกจากนี้ในตอนท้ายของประกาศยังเน้นชัดอีกว่า “บรรดาโรงเรียนซึ่งตั้งในพระอารามแลวัดต่าง ๆ ประกาศนี้ ถ้าสอนตามแบบเรียนหลวงแล้ว ให้นับเป็นโรงเรียนหลวงทั้งสิ้น” จากประกาศฉบับนี้มีผลทำการตั้งโรงเรียนขึ้นตามวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งจังหวัดฉะเชิงเทราด้วย ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น แสดงว่าหลังประกาศตั้งโรงเรียนมูลสามัญศึกษาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2435 แล้ว การศึกษาที่วัดสายชลฯ จึงมีฐานะโรงเรียนมูลสามัญศึกษาโรงเรียนหนึ่งของเมืองฉะเชิงเทรา ในชื่อแรกคงใช้ชื่อโรงเรียนตามชื่อวัด โดยใช้ศาลาการเปรียญของวัดเป็นสถานศึกษาเล่าเรียนเปิดสอนทั้งชั้นมูลและชั้นประถม หรือกล่าวได้ว่า โรงเรียนวัดสายชล ณรังษี (แหลมบน) เป็นโรงเรียนหลวงของเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งขณะนั้นเจ้าคณะจังหวัด คือ ครูญาณรังษีมุนีวงษ์ (พระครูมี) ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ด้วยการศึกษาเริ่มแพร่หลาย มีผู้ส่งบุตรหลานให้เข้ารับการศึกษามากขึ้น จึงต้องขยายที่เรียนให้เพียงพอแก่นักเรียน จึงใช้โรงทึมที่หลวงอาณัติจีนประชาสร้างขึ้นเพื่อบำเพ็ญกุศลศพของพระวิสูตรจีนชาติแล้วถวายให้วัดเมื่อ พ.ศ. 2438 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิรูปการปกครองพร้อมกันไปด้วย โดยจัดแบ่งหัวเมืองออกเป็นมณฑล (มณฑลเทศาภิบาล) และได้จัดตั้งมณฑลปราจีนขึ้นในปี พ.ศ. 2437 ต่อมามีพระราชปรารภว่า “เมืองฉะเชิงเทรามีราชการมากกว่าเมืองอื่นๆ ทั้งยังมีทางรถไฟ และเป็นเมืองท่ามกลางมณฑล สมควรย้ายที่ว่าการมณฑลมาตั้งที่เมืองฉะเชิงเทราจะเป็นการสะดวกแก่การปกครองและการบังคับบัญชา” จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ว่าการมณฑลมาตั้งทีเมืองฉะเชิงเทราตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2445 ต่อมา ทรงมรพระราชประสงค์ที่จะจัดการการศึกษาให้เป็นแบบแผนเดียวกันทั่วทั้งประเทศ จึงทรงมอบให้กระทรวงธรรมการดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ โดยให้มีการศึกษาตาม “โครงการจัดการการศึกษาตามแบบอย่างอังกฤษ พ.ศ. 2441” กล่าวคือแบ่งการศึกษาเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ชั้นมูล ชั้นประถม ชั้นมัธยม และอุดมศึกษา และจัดให้การศึกษาในโรงเรียนเพื่อให้เป็นแบบอย่างเฉพาะในเมืองที่เป็นที่ตั้งมณฑลขึ้นก่อน กระทรวงธรรมการจึงได้ส่ง ขุนวิธานดรุณกิจ ออกมาจัดการการศึกษาในมณฑลปราจีนบุรี ฉะเชิงเทราเป็นคนแรก โดยมีท่านเจ้าคุณทักษิณคณิศร แม่กองการศึกษาและแม่กองสอบไล่มาเป็นประธานร่วมด้วย เมือร่วมกันพิจารณากันว่าเห็นพ้องกันว่า “โรงเรียนวัดสายชล ณ รังษี (แหลมบน) ” มีความเหมาะสมที่จะเป็นตัวอย่างมากกว่าโรงเรียนวัดอื่นๆในละแวกเดียวกัน ด้วยเหตุผล 3 ประการคือ
1. วัดนี้เจ้าคณะแขวง คือ ท่านพระครูคณานุกิจวิจารย์ (พระ ครูเฮ้ย) ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ประกอบกับท่านเป็นกำลังสำคัญและเอาใจใส่ดูแลการศึกษา ของเด็กเป็นอย่างดีมาโดยตลอด
2. วัดนี้มีสถานที่เรียนกว้างขวาง โดยทางวัดได้มอบศาลาการเปรียญ และโรงทึม ซึ่งทางวัดไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์อื่นใดมากนัก ให้ใช้เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียน และยังสามารถขยายการรับฝากเด็ก ให้เพิ่มมากขึ้นได้อีกพอควร
3. วัดนี้ได้เอาใจใส่หลักสูตรการเรียน จนเข้ารูปเข้ารอยบ้างแล้ว และมีจำนวนเด็กเข้าเรียนมากกว่าวัดอื่นๆ นอกจากเด็กที่อยู่ประจำในวัดแล้วยังมีเด็กชาวบ้านประเภทเดินเรียนอีกด้วย เมื่อเห็นพ้องตรงกันดังนี้ จึงแจ้งให้กระทรวงธรรมการทราบเป็นทางการด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น โรงเรียนวัดสายชล ณ รังษี (แหลมบน) จึงได้รับเลือกและยกฐานะขึ้นเป็นโรงเรียนรัฐบาลตัวอย่างประจำมณฑลปราจีน เมื่อปี พ.ศ. 2446 แบ่งนักเรียนตามประเภทความรู้ได้ 2 ระดับ คือชั้นมูลและชั้นประถม แต่ยังคงเรียนรวมกันอยู่ บนศาลาการเปรียญของวัด ครันเมื่อกระทรวงธรรมการส่งครูมาให้ 2 คน คือ ครูมั่ง พระปัญญา และครูต่ำ (ไม่ทราบนามสกุล) จึงได้แยกนักเรียนชั้นประถมลงมาที่โรงทึม แล้วขนานนามโรงเรียนวัดสายชลฯ เสียใหม่ว่า “โรงเรียนอณัตยาคม”โดยชื่อสกุลของพระวิสูตรจีนชาติ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เจ้าสกุลสืบนับว่าโรงเรียนวัดสายชล ณ รังษี (แหลมบน) เป็นโรงเรียนที่เป็นรากฐานอันสำคัญอย่างยิ่ง การศึกษาของเมืองฉะเชิงเทรา หลังจากเปิดทำการสอนได้ 2 ปี โรงเรียนอาณัตยาคมกลายเป็นสนามสอบไล่ตามคำสั่งของท่านเจ้าคุณทักษิณคณิศร เจ้าอาวาสวัดบางยี่เรือใต้คลองบางกอกใหญ่ ธนบุรี ซึ่งเป็นเจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรีด้วย ได้มีคำสั่งให้ครูโรงเรียนต่างในจังหวัดฉะเชิงเทรา มาสมทบสอบไล่ที่โรงเรียนอาณัตยาคม และท่านเจ้าคุณทักษิณคณิศรได้พาข้าหลวงและพนักงานสอบไล่มาทำการสอบเมื่อเดือนพฤษภาคมพ.ศ. 2488 โดยมีหลวงบำนาญวรญาณเป็นหัวหน้าคณะสอบ โรงเรียนที่มาสอบไล่ดังนี้
พ.ศ. 2449 ทางราชการกำหนดให้มีการสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯถึงฉะเชิงเทรา จึงมีการจัดวางผังเมืองให้รับกับความเจริญ ด้วยเหตุที่กล่าวทำให้ตัวเมืองเป็นย่านชุมชนมากกว่าที่วัดสายชล ณ รังษี กระทรวงธรรมการจึงมีคำสั่งให้ย้ายโรงเรียนประจำมณฑลปราจีน มาอยู่ที่วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ เมื่อ พ.ศ. 2450 โดยใช้ศาลาการเปรียญของวัดเป็นสถานที่เรียน และครูที่กระทรวงธรรมการส่งให้ไปประจำที่โรงเรียนอณัตยาคม คือครูมั่ง พระปัญญา ก็มีคำสั่งให้ย้ายมาด้วย เมื่อโรงเรียนประจำมณฑลย้ายมาที่วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์นักเรียนส่วนหนึ่งย้ายตามมา บางส่วนยังเรียนที่เดิมและได้มีการขยายชั้นเรียนเพิ่มขึ้นทำให้สถานที่เรียนเดิมคือศาลาการเปรียญ และหอสวดมนต์ไม่เพียงพอที่จะรองรับนักเรียนได้หลวงพ่อแก้วหรือพระอธิการแก้วซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ขณะนั้นได้อนุญาตให้ใช้เงินของท่านเพื่อปลูกเรือนไม้ทรงปั้นหยา 2 ชั้น ใกล้กับบริเวณสระน้ำ เรือนปั้นหยาที่ทรงสร้างขึ้นนี้ ชั้นบนเป็นที่เรียนของนักเรียนชั้นมัธยม ส่วนชั้นล่างเป็นของนักเรียนชั้นประถม 2 และ3 ที่ศาลาการเปรียญให้เป็นที่เรียนของชั้นมูลและชั้นประถม 1 โรงเรียนได้ชื่อตามวัดคือโรงเรียนปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ และมีครูแปลกเป็นครูใหญ่คนแรกที่กระทรวงธรรมการส่งมา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑล ทรงปรารภมีความว่า “จังหวัดนี้ก็เป็นที่ตั้งศาลามณฑล หากมีสถานศึกษาที่กว้างขวางและมั่นคงแล้วกุลบุตรกุลธิดาก็จะได้รับการอบรมสั่งสอนที่แพร่หลายออกไป คู่ควรกับความเจริญของบ้านเมือง” จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุนวิธานดรุณกิจ เป็นผู้หาเงินสร้างโรงเรียนใหม่ ด้วยการบอกบุญเรี่ยไรบรรดาข้าราชการ พ่อค้าและประชาชนในจังหวัด ตามแต่ความปรารถนาและความศรัทธาในการศึกษาของกุลบุตรกุลธิดา จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2453 ขุนวิธานดรุณกิจรวบรวมเงินฝากคลังไว้ได้ 1,433.66 บาท เงินจำนวนนี้ก็ยังไม่พอแก่ความต้องการที่จะสร้างโรงเรียนหลังใหม่ขึ้นได้ไม่บังเอิญขุนวิธานดรุณกิจ ต้องย้ายไปรับราชการที่อื่น การก่อสร้างจำต้องชะงักไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ทางราชการได้แต่งตั้งขุนบรรหารวรอรรถ มาดำรงตำแหน่งแทน จึงได้รับงานนี้มาดำเนินต่อไป จนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2455 รวบรวมเงินเพิ่มได้อีก 2,205.43 บาท เมื่อรวมกับเงินที่หาได้คราวแรกจะเป็นเงิน 3,639.09 บาท ก็ยังไม่พอเพียงแก่การสร้างอาคารเรียน กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลจึงโปรดอนุญาตประทานเงินที่เหลือจากการทำสังเค็ด ( ของที่ถวายแก่พระสงฆ์เมื่อเวลาปลงศพ) เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช เป็นเงิน 2,930.32 บาท กับเงินของพระอธิการแก้ว เจ้าอาวาสวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ (เวลามรณภาพแล้ว) ซึ่งเป็นเงินสงฆ์อีก 2,888.82 บาท ในการเสด็จในกรม (กรมขุนมรุพงษ์ ฯ) ยังประทานกระแสรับสั่งว่า หากเงินจำนวนนี้ยังไม่พอแก่การก่อสร้างโรงเรียนหลังใหม่ขึ้นแล้วก็ทรงยินดีจะสละทรัพย์ส่วนพระองค์เข้าร่วมสมทบเพิ่มเติมให้สร้างขึ้นจนสำเร็จจงได้ ธรรมการมณฑล (ขุนบรรหารวรอรรถ) จึงทำการประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างในวงเงิน 9,458.23 บาท ปรากฏผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นเงิน 9,000บาท จึงทำสัญญาก่อสร้างโรงเรียนขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 ตามแบบรูปรายการ (ในเนื้อของสระว่ายน้ำโรงเรียนในปัจจุบัน) เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวใต้ถุนเตี้ยในระหว่างการก่อสร้างซึ่งตั้งเสาวางเครื่องบนไว้เสร็จแล้วนั้นเกิดพายุพัดโหมอย่างแรงกล้า ทำให้โครงสร้างหักพังลงมาทั้งหลัง การก่อสร้างจึงล่าช้ามาถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2456 อาคารเรียนหลังนี้จึงสำเร็จเรียบร้อย เสด็จในกรม (กรมขุนมรุพงษ์ ฯ ) จึงแจ้งไปยังกระทรวงธรรมการ เพื่อนำความกราบขึ้นบังคมทูลพระราชกรุณาขอพระราชทานนามโรงเรียนหลังนี้ และในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2456 กระทรวงธรรมการแจ้งกลับมาว่า ได้นำความกราบขึ้งบังคมทูลแล้ว พระองค์ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนว่า “เบญจมราชูทิศ” ทางโรงเรียนได้ทำพิธีเปิดป้ายนามโรงเรียนไปก่อนแล้ว เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2456 ใช้เป็นสถานที่เรียนสืบมา ขุนบรรหารวรอรรถ ผู้เป็นกำลังสำคัญคนหนึ่งให้ “เบญจมราชูทิศ” ยืนเด่นขึ้นมาได้นั้นต้องย้ายไปรับราชการในตำแหน่งข้าหลวงตรวจการศึกษาภาคตะวันออกเสีย เมื่อต้นปี พ.ศ. 2460 ทางราชการได้เลื่อนหลวงอำนวยศิลปศาสตร์ (ธรรมการจังหวัด) ขึ้นเป็นกรรมการมณฑล ท่านผู้นี้มีความสนใจเรื่องการศึกษาเป็นอันมาก เป็นเหตุให้การศึกษาในจังหวัดฉะเชิงเทราเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ โรงเรียนเบญจมราชูทิศมีสถานที่ไม่เพียงพอแก่การรับนักเรียนที่ทวีมากขึ้นแม้ว่าจะมีโรงเรียนอยู่ที่วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ ท่านธรรมการมณฑลจึงมีความดำริว่า จะต้องสร้างโรงเรียนเพิ่มขึ้นอีกหลังหนึ่ง มิฉะนั้นนักเรียนจะประสบอุปสรรคสถานที่เรียน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรจะต้องรอต่อไปให้ล่าช้า จึงนำความขึ้นทูล ม.จ.ธำรงศิริ ศรีธวัช (สมุหเทศาภิบาล) ให้ทราบถึงความดำรินั้น ปรากฏว่ามีความศึกษาของมณฑลขึ้นจำนวนหนึ่ง และเรียกช่างมารับเหมาก่อสร้างโรงเรียนหลังใหม่ช่างประมูลได้ในราคา 20,00.00 บาท ดำเนินการก่อสร้าง (ในเนื้อที่ทางด้านตะวันออกของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ คือสนามฟุตบอลของโรงเรียนในปัจจุบัน) เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2462 เป็นต้นไปจนแล้วเสร็จ เปิดเป็นอาคารเรียนได้เมื่อเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2463 ลักษณะอาคารเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวมีมุขกลางใต้ถุนสูงโปร่ง มีบันไดขึ้นลงสองข้างมุข ม.จ.ธำรงศิริ ศรีธวัช จึงแจ้งไปยังกระทรวงธรรมการเพื่อนำความกราบขึ้นบังคมทูลขอพระทานนามโรงเรียน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “ฉะเชิงเทรารังสฤษฎิ์” จึงได้จัดงานพิธีฉลองอาคารใหม่ โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสด็จมาชักแพรเปิดป้าย พ.ศ. 2478 ขณะที่หลวงอาจวิชาสรร ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ และรั้งตำแหน่งข้าหลวงตรวจการศึกษาธิการด้วย ได้ปรึกษาปัญหากับนายสุบิน พิมพยะจันทร์ ธรรมการจังหวัด ว่าทั้งโรงเรียนเบญจมราชูทิศและโรงเรียนฉะเชิงเทรารังสฤษฎิ์ สร้างมานานปีชำรุดทรุดโทรมลงมาก นักเรียนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สภาพอาคารขาดความมั่นคงแข็งแรง ควรจะยุบโรงเรียนสองหลังแล้วปลูกสร้างขึ้นใหม่ในที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมชื่อโรงเรียนทั้งสองหลังตั้งเป็นชื่อใหม่ว่า “เบญจมฉะเชิงเทรา” โดยใช้นามเดิมของโรงเรียนเก่าทั้งสองหลังรวมกันสมควรกว่า
พ.ศ. 2480 จนถึงปัจจุบัน วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2479 ทางราชการมีคำสั่งย้ายหลวงอาจวิชาสรร ไปดำรงตำแหน่งเลขานุการกรมการศาสนา และแต่งตั้งนายศิริพล (ย้อย) วรสินธุ์ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่แทน จึงเริ่มดำเนินการเรื่องนี้ต่อจากโครงการเดิมร่วมกับนายสุบิน พิมพยะจันทร์ ธรรมการจังหวัด โดยรื้อโรงเรียนทั้งสองหลังลงเมื่อ พ.ศ. 2480 เพื่อนำวัสดุเก่าที่ใช้ได้ มีเสา พื้น ฝา และกระเบื้อง เป็นต้นไปก่อสร้างร่วมกับโรงเรียนหลังใหม่ ในระหว่างที่ไม่มีอาคารเรียนนั้น คณะครู 13 คน และนักเรียน 310 คน ได้รับเมตตาจิตจาก ร.อ.หลวงกำจัดไพริน ผู้บังคับกองพันทหารช่างที่ 2 (ค่ายศรีโสธร) ให้ยืมเรือนนอนทหาร 1 หลัง เพื่อใช้เป็นสถานศึกษาจนตลอดปีการศึกษา 2481 ความหวังที่จะได้อาคารเรียนใหม่เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นด้วยความเห็นชอบของหลวงนรกิจบริหาร ข้าหลวงประจำจังหวัด นายสุบิน พิมพยะจันทร์ ธรรมการจังหวัด และนายศิริพล (ย้อย) วรสินธุ์ ครูใหญ่ เป็นอาคารเรียน (เรือนไม้) 2 ชั้น เมื่อ พ.ศ. 2480 เริ่มย้ายจากค่ายทหาร ช.พัน 2 กลับมายังอาคารเรียนหลังใหม่ในเดือน กรกฎาคม – สิงหาคม พ.ศ. 2481 ต่อมานายสุบิน พิมพยะจันทร์ ธรรมการจังหวัดได้ทำสัญญากับนายสุวรรณ แสงส่งเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2481 ทำการกั้นฝาชั้นล่างด้วยเงินการจรอีก 1,895.00 บาท ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน หลังจากวันทำสัญญา ฉะนั้น “เบญจมราชรังสฤษฎิ์” ก็สำเร็จเรียบร้อยพร้อมที่จะใช้เป็นอาคารเรียนสมบูรณ์ มีห้องเรียนทั้ง 2 ชั้น รวม 20 ห้อง มีห้องประชุมอยู่กลางอาคาร (ชั้นกลาง) ในเวลาเดียวกันนี้ได้ทำสัญญาทาสี อาคารเรียนทั้งหลังระหว่างนายสุบิน พิมพยะจันทร์ กับนายเค็งคุน แซ่อุ๊ย ด้วยเงินการจรอีก 2,650.00 บาท ให้เสร็จภายใน 150 วันนับจากวันทำสัญญา พล.ร.ร.หลวงสินธุ์สงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการได้มาเป็นประธานพิธีชักแพรเปิดป้ายนามโรงเรียน มีชื่อเต็ม ๆ ว่า โรงเรียนประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา “เบญจมราชรังสฤษฎิ์” เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การเปลี่ยนชื่อโรงเรียนรัฐบาลเพื่อความเหมาะสม ลงวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2494 และตามหนังสือของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ 16542/2494 ลงวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2494 ในสมัยนายเลียง ไชยกาล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยเปลี่ยนชื่อจากเดิมเป็น โรงเรียนประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา “เบญจมราชรังสฤษฎิ์” จังหวัดฉะเชิงเทรา ปี พ.ศ. 2496 เป็นโรงเรียนหนึ่งที่อยู่ในข่ายปรับปรุงขององค์การส่งเสริมการศึกษาจังหวัดฉะเชิงเทรา มีแผนกเรียนจัดไว้เป็นวิชาเลือก แยกเรียน 4 แผนก คือแผนกวิสามัญ (แผนกหนังสือ) แผนกช่าง แผนกพาณิชย์ และแผนกเกษตร โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศประจำองค์การฯ ชื่อ ดร.ออสเซี่ยน ฟล้อค (Dr. Ossian Flock) คอยให้ความช่วยเหลือและแนะนำอยู่เสมอ เรียกกันในสมัยนั้นว่าโรงเรียนมัธยมวิสามัญแบบประสม (Comprehensive High School) นับเป็นโรงเรียนแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการปรับปรุงทางด้านการศึกษา ต้นปีการศึกษา 2501 ได้เปิดสอนระดับเตรียมอุดมศึกษา แผนกวิทยาศาสตร์เป็นแบบสหศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จึงเปลี่ยนชื่อโรงเรียนจากเดิมเป็น โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ สืบมาจนปัจจุบันนี้ ปีการศึกษา 2511 เข้าโครงการโรงเรียนมัธยมแบบประสม (ค.ม.ส.) รุ่นที่ 2 เป็นโรงเรียนที่ 7 ของโครงการใช้หลักสูตร ค.ม.ส. ในระดับมศ.ต้น ปีการศึกษา 2515 เริ่มใช้หลักสูตร ค.ม.ส.ในระดับ มศ.ปลาย แผนกทั่วไปและเริ่มเปิดรับนักเรียนเป็นสหศึกษา ตั้งแต่ชั้น มศ.1 เป็นต้นมา ปีการศึกษา 2518 เริ่มใช้หลักสูตรมัธยมศึกษา ตอนปลาย พ.ศ. 2518 ในชั้น มศ.4 ปีการศึกษา 2521 เริ่มใช้หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พ.ศ. 2521 ในชั้นม.1 ปีการศึกษา 2524 เริ่มใช้หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ. 2524 ในชั้น ม.4 ปัจจุบันมีอายุ 115 ปี (พ.ศ. 2551)
พระเกี้ยว เป็นตราพระเกี้ยวซึ่งเป็นตราประจำรัชกาลที่ 5 ใต้ตราพระเกี้ยวเป็นวงกลมด้านในมีอักษรย่อ บ.ฉ. ด้านล่างเป็นแถบแพรมีข้อความว่า เบญจมราชรังสฤษฎิ์ ฉะเชิงเทรา
พุทธศาสนสุภาษิตประจำโรงเรียน “สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี” ความหมายคือ ความพร้อมเพรียงแห่งหมู่คณะ นำมาซึ่งความสุข
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์_จังหวัดฉะเชิงเทรา